กรมพัฒน์ฯ ฝึกอาชีพ

ผู้มีรายได้น้อยปลื้ม ได้ความรู้ ได้เครื่องมือทำกินทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ชี้ผลงานปี 66 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคน มีทักษะและได้เครื่องมือทำกิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีทักษะฝีมือ สามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้กลุ่มแรงงานและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้ง ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย ในการฝึกทักษะให้กับแรงงานที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและมีสิทธิ์รับสวัสดิการแห่งรัฐ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำโครงการและดำเนินการฝึกตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 31,500 คน ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานว่า สามารถดำเนินการฝึกทักษะอาชีพให้แก่แรงงานกลุ่มดังกล่าวไปแล้วจำนวน 31,450 คน ผู้ที่ผ่านการฝึกสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,000 – 3,000 บาท มีทั้งประกอบอาชีพทำอาหารจำหน่าย ทำขนม แปรรูปอาหารจำหน่าย รับงานตัดเย็บ รับงานเชื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ มีการฝึกที่ต่อยอดอาชีพเดิมเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วย มีการสอนเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้กลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเองอยู่แล้ว ทำการตลาดบนออนไลน์ได้ จึงเป็นอีกช่องทางการจำหน่ายสินค้า ทำให้มีรายได้มากขึ้น การฝึกทักษะแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่และนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริงและยั่งยืน

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า แรงงานกลุ่มนี้ให้ความสนใจสมัครเข้าฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับความรู้แล้ว ระหว่างฝึกมีเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย และเมื่อฝึกจบยังได้รับเครื่องมือสำหรับนำไปประกอบอาชีพด้วย ช่วยให้การเริ่มต้นประกอบอาชีพง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือหากต้องซื้อเพิ่มเติมก็ซื้อเพิ่มเติมไม่มากนัก จึงช่วยลดรายจ่ายในส่วนนี้ไปได้ ผู้เข้าฝึกอบรมบางรายที่ยังไม่สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ก็นำความรู้ที่ได้รับไปช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวลงได้ เช่น ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมการตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ส่วนใหญ่จะยังรับงานตัดเย็บที่เป็นทั้งชุดไม่ได้ แต่สามารถรับงานตัดเย็บแบบง่าย หรือรับปรับแก้ขนาดเสื้อผ้า การเปลี่ยนซิบ และการตัดเย็บที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ลดรายจ่ายในครอบครัวด้วยการแก้ไขปรับขนาดหรือเปลี่ยนซิบได้เอง โดยไม่ต้องไปจ้างร้าน เป็นต้น การประกอบอาชีพตัดเย็บอาจต้องฝึกฝนให้ชำนาญจึงจะสามารถรับงานที่คิดราคาสูงขึ้นได้ มีหลายจังหวัดที่จัดอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้า ผู้เข้าฝึกเป็นกลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว และกรมไปเพิ่มเติมความรู้ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สามารถคิดราคาได้สูงขึ้น หลักสูตรเหล่านี้ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 43 ตาก จัดฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ ฝึกอบรมการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้า

“โครงการนี้นับได้ว่าประสบความสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ มีทักษะอาชีพพื้นฐาน แรงงานก้าวพ้นจากความยากจนด้วยการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ที่มีผลิตภาพและรายได้สูงขึ้นอีกด้วย”อธิบดีบุปผา กล่าวท้ายสุด

Visitors: 344,100