กรมพัฒน์พัฒนาทักษะขั้นสูง

กรมพัฒน์ขานรับนโยบาย รมว.พิพัฒน์  สั่งการพัฒนาทักษะชั้นสูงรองรับค่าจ้างตามความสามารถ

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับนโยบาย รมว.แรงงาน เร่ง Upskill  ผลักดันแรงงานเข้าทดสอบฝีมือ ก่อนการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ปี 2567

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงาน โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานวานนี้ (14 ก.ย.66) ได้มอบนโยบายภายใต้แนวคิด "ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"  ซึ่งในส่วนของทักษะดี มีงานทำนั้น ซึ่งมีภารกิจที่เกี่ยวขเองกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในส่วนของดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานขั้นสูงเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถในการปฏิบัติงาน และเร่ง Up-Skill ทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการดังกล่าว

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐาน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการร่วมกันกำหนดเพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานทุกมิติ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22  เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 54 สาขา มี 3 ระดับฝีมือ จากที่ได้ประกาศไปแล้ว 129 สาขาอาชีพ อาทิ ช่างเย็บผ้า ระดับ 1 จากเดิมวันละ 345 บาท เป็น 370 บาท ช่างปูกระเบื้องและพื้น ระดับ 1 จาก 450 บาท เป็น 485 บาท ช่างไฟฟ้าอาคาร ระดับ 1 จาก 440 บาท เป็น 470 บาท ช่างซ่อมเครื่องยนต์ จาก 400 บาท เป็น 430 บาท โดยจะมีผลภายใน 90 วัน นับจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในเดือน มกราคม 2567

แรงงานที่มีอยู่ในสาขาอาชีพดังกล่าว ควรพัฒนาทักษะฝีมือของตนให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ ควรเข้ารับการทดสอบฝีมือเพื่อการันตีความสามารถของตนให้เหมาะสมกับค่าจ้างที่เป็นธรรม และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้แรงงานได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค คัดเลือกหลักสูตรที่ทันสมัยสอดรับกับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย นอกจากนี้ให้จัดเตรียมความพร้อมของศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาร่วมเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน สำหรับผู้ที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 อธิบดีบุปผา กล่าว

Visitors: 344,093