สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ เปิดงานเชิงรุกสนับสนุนพันธกิจการทำนาเกลือและขนมกงสอดรับนโยบายการทำ Soft Power ของรัฐบาล

ดร. พรสรรค์ โรจนพานิช   ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  กล่าวถึงนโยบายของกองทุนฯ  ว่ามีวิสัยทัศน์ดังนี้ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลาง และโครงข่ายการเรียนรู้ เงินทุน  สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการแก้ไขปัญหา ของหมู่บ้านและชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ครัวเรือนสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง อบอุ่น เข้มแข็ง สู่การเป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม 

 

ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช  ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม 

และมีพันธกิจที่ต้องทำคือ

1. สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นกลไก ศูนย์กลางและโครงข่ายการเรียนรู้ เงินทุน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการแก้ไขปัญหา

2. พัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนและหมู่บ้านชุมชนไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามวิถีและภูมิปัญญาตนเองของชุมชนท้องถิ่น  

โดยมีภาระกิจต่อไปนี้

1. สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและ

ชุมชนเมือง สำหรับการลงทุน เพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และบรรเทาเหตุฉุกเฉินกรณีจำเป็นเร่งด่วน

2. ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม และพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองด้วยการเรียนรู้ และพัฒนาความคิดริเริ่ม ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง

3. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มีความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการ

เงินกองทุนของตนเองให้เข้มแข็งและยั่งยืนสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน

4. กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากของประเทศในเชิงรุก และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ

5. ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนให้สามารถคิดวิเคราะห์และเกิดการทำงานเป็นหมู่คณะ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมโดยอาศัยการสร้างเครือข่ายของการทำงานแบบพหุภาคี

 

 

นายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานกองทุนหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ๑ ได้บรรยายให้ฟังว่า

คำกล่าวที่ว่า กองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่เงิน กองทุนหมู่บ้านเป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ามากกว่าเงินมากนักบัดนี้คำกล่าวดังกล่าวเริ่มเป็นจริงบ้างแล้วจากการดูงานตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจ ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ณ กองทุนหมู่บ้านสหกรณ์ 1 หมู่ที่ 3 ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาครนั้นพบว่า วันนี้ธุรกิจการทำนาเกลือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แตกต่างกับเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างมากมาย จากการเปิดเผยของนายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์หมู่ 3 ตำบลโคกขาม และประธานกองทุนหมู่บ้านสหกรณ์ หมู่ 3 ตำบลโคกขามได้เล่าให้ฟังว่า ในปี 2554 เป็นปีที่ชาวบ้านทุกชีวิตที่ทำนาเกลือจดจำได้ดี จากวิกฤติราคาเกลือสมุทรตกต่ำเหลือเกวียนละ 500 บาทเท่านั้นเป็นปีที่เรียกได้ว่าเป็นทุกข์ยากของชาวนาเกลืออย่างแท้จริง หลังจากวิกฤตการคราวนั้น มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือและที่สำคัญคือมีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเข้ามาดูแล ในปีนั้นทุกฝ่ายได้ร่วมกันคิดนำผลผลิตที่ได้จากเกลือมาต่อยอดแปรรูปเป็นเกลือสปาขัดผิว เพื่อแก้ไขวิกฤติราคาเกลือตกต่ำ ลองผิดลองถูกด้วยกันมา ตอนที่ทดลองใหม่ๆ จำได้ว่า แรกเริ่มนำดอกเกลือดิบมาผสมขมิ้นแล้วมาขัดผิวโดยตรง แต่พอนำมาขัดจริงๆมันบาดเนื้อ ทำให้ผิวแสบจึงไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงเกิดวิวัฒนาการนำดอกเกลือและส่วนผสมอื่นๆ มาปั่นให้ละเอียดก่อนนำไปขาย ปรากฎว่าประมาณอาทิตย์ สองอาทิตย์เครื่องปั่นก็พัง ทางสำนักงานเกษตรร่วมกับทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติก็เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันอีกครั้งเกี่ยวกับการซื้อเครื่องโม่แบบใช้ไฟฟ้าให้กับชาวบ้าน ทำให้ผลิตภัณฑ์ เกลือขัดผิวของเราเนียนขึ้น ประกอบกับส่วนผสมต่างๆ ที่เราใช้นั้นจะผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองว่าจะไม่มีปัญหากับผิวพรรณของมนุษย์ สินค้าที่ผลิตออกมาจึงเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว ในปี 2556 หลังจากวิกฤติราคาเกลือเพียง 2  ปีเท่านั้น ผลิตภัณฑ์เกลือขัดผิวของเรานั้นก็กลายเป็นสินค้าขายดีของจังหวัด นายเลอพงษ์ยังกล่าวอีกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ผลิตภัณฑ์เกลือของชุมชนจะได้รับเครื่องหมาย อย. ซึ่งหลังจากได้รับเครื่องหมายนี้ก็จะทำให้สินค้าของเรานั้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีความหวังไกลไปถึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับการยอมรับทั่วไปพอฟังมาถึงตรงนี้ก็ได้แต่ประหลาดใจนะครับว่า อาชีพทำนาเกลือ อาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาเก่าแก่ของมนุษย์เกือบจะเลือนหายไปกลุ่มจากประเทศไทยเราแล้ว โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ชาวชุมชนนาเกลือทุกคนเข้มเข็ง และได้รับการโอบอุ้มจากภาครัฐอย่างตรงจุด ถูกที่ถูกเวลา ทำให้กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นได้  บ้านสหกรณ์โรงเรียนนาเกลือ ได้เป็นศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ สถานที่ท่องเที่ยว ให้ความรู้สำคัญของ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้เรียนรู้หรือนักท่องเที่ยวจะได้รับการเรียนรู้ถึง 3 ฐาน ด้วยกัน

ฐานที่ 1 เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง ขบวนการขั้นตอนการผลิตเกลือทะเลทั้งหมดรวมทั้งคุณประโยชน์ของเกลือ ว่ามีอะไรบ้าง

ฐานที่ 2 สัมผัสพื้นที่จริง ชมดอกเกลือ พบกับการตกผลึกของเกลือ และเม็ดเกลือ

ฐานที่ 3 มาเรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูป

นายเลอพงษ์ จั่นทอง ได้กล่าวยืนยันว่าทุกฐานการเรียนรู้จะมีความสนุกสนานได้รับความรู้อย่างเต็มเปี่ยม และที่สำคัญอยากให้ทุกคนมาเรียนรู้ว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ ชาวนาเกลือผ่านความยากลำบากอย่างไรมาบ้าง

ปัจจุบันสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น เกลือสปาแช่เท้า เกลือสมุนไพรขัดผิว เกลืออโรมา สบู่ และเกลือปรับอากาศ ให้สอดรับกับนโยบายและเตรียมความพร้อมสู่ Soft Power ของรัฐบาล

อีกหนึ่งกองทุนหมู่บ้านที่น่าสนใจ คือกองทุนหมู่บ้านนาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ได้นำขนมท้องถิ่น “ขนมกง”เกิดจากการทำขึ้นเพื่อถวายพระ ในงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาคร สู่เมนูที่ขึ้นชื่อเป็นของฝากที่ขาดไม่ได้ ที่ทุกคนชื่นชอบหากได้ลิ้มลองประวัติจริงๆของขนมที่มีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกัน คล้ายล้อเกวียน ที่เรียกกันว่าขนมกงนั้นเชื่อกันว่ามีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานว่าคนในสมัยนั้นเชื่อว่าการทำรูปร่างของขนมกงให้เหมือนล้อเกวียนนั้น

เปรียบเสมือนกงล้อที่หมุนไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระธรรมจักร หรือกงล้อแห่งธรรม ที่ไม่มีวันดับสูญโดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครขนมกงจึงเป็นเป็นขนมมงคลที่สำคัญ นอกจากจะเป็นขนมในพิธีแต่งงานแล้วยังเป็นขนมเซ่นไหว้ที่ขาดไม่ได้ในหลายงานประเพณีประจำปีของท้องถิ่นและที่งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาครที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์นี้ ขนมมงคลที่ชื่อว่าขนมกงนี้ตอนแรกมีวัตถุประสงค์ทำกันเพื่อถวายพระและขายเฉพาะช่วงงานประเพณีเพียงปีละครั้งเท่าเท่านั้น แต่ปรากฎว่าทุกปีที่พอใครได้ลิ้มลองก็ติดอกติดใจในรสชาติมียอดสั่งจองสั่งซื้อกันยกใหญ่

ชาวบ้านในกลุ่มบ้านนาโคก จึงได้มีแนวคิดที่จะทำขนมกงขายนอกเหนือเทศกาลเพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับตนเอง โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้านไปกู้เงิน จากกองทุนหมู่บ้านจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันนี้สมาชิกได้มีการใช้เงินจำนวนนี้คืนให้กับกองทุนครบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากประสบความสำเร็จในการขายสามารถทำกำไรกลับมาหมุนเวียนเป็นทุนอย่างไม่ต้องพึ่งพาใครอีกแล้วโดยขนมกงของกลุ่มบ้านนาโคกมีส่วนประกอบแบ่งเป็นสองส่วนคือ ชั้นในกับชั้นนอก ชั้นในก็คือตัวขนมกงที่ผสมด้วยข้าวตอก ถั่วเขียวซีก น้ำตาลมะพร้าวแท้  เมื่อนำส่วนผสมชั้นในมาบดโม่กวนจนแห้งแล้วค่อยคลึงเป็นเส้นแล้วขดแต่งเป็นรูปกง ตากทิ้งไว้หนึ่งคืน ชั้นนอกจะเรียกว่าแป้งชุบทอด แป้งชั้นนอกก็จะประกอบด้วยแป้งข้าวจ้าว กะทิ น้ำปูนใส การทอดก็ต้องใช้ไฟกลาง คอยแยกชิ้นไม่ให้ติดกัน ต้องทิ้งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุ จะทำให้ ขนมกงคงความกรอบนาน เสร็จแล้วต้องท้าทายหากใครได้ลองชิมรับรองว่าต้องกลับมาซื้อใหม่แน่นอนและที่สำคัญนอกจากความอร่อยในรสชาติแล้ว ตลอดขั้นตอนการผลิตนั้นขนมกงกลุ่มบ้านโคกนาจะใช้คนในพื้นที่ซึ้งส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุทำให้สร้างรายได้สร้างกำลังให้ผู้สูงอายุใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

               ดร. พรสรรค์ โรจนพานิช   ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ   กล่าวอีกว่าสำนักงานกองทุนฯ มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มีความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการเงินกองทุนของตนเองให้เข้มแข็งและยั่งยืนสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน  เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากของประเทศในเชิงรุก และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ  และยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนให้สามารถคิดวิเคราะห์และเกิดการทำงานเป็นหมู่คณะ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมโดยอาศัยการสร้างเครือข่ายของการทำงานแบบพหุภาคี

                ทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน “การทำนาเกลือและการทำขนมกง” เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มรายได้ที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่กลับมาสนใจทำงานสืบทอดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สอดรับกับนโยบายและเตรียมความพร้อมสู่ Soft Power ของรัฐบาลด้วย

 

 

Visitors: 344,086