หลวงปู่เอี่ยม วัดสพานสูง

 หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม พระเกจิชื่อดังที่ชาวเมืองนนท์ให้ความเลื่อมใสศรัทธา วัดสะพานสูง ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

 หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ ปีฉลู พ.ศ.๒๓๕๙ ที่ตำบลบ้านแหลมใหญ่ ฝั่งใต้ ข้างวัดท้องคุ้ง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บิดาชื่อ “นายนาค” และมารดาชื่อ “นางจันทร์ ” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๔ คน คือ ๑. หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม ๒. นายฟัก ๓. นายขำ ๔. นางอิ่ม

 เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม อายุท่านได้ ๒๒ ปี ได้อุปสมบท ที่วัดบ่อ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด (วัดบ่อนี้อยู่คิดกับตลาดในท่าน้ำปากเกร็ด) ท่านอุปสมบท ได้ประมาณหนึ่งเดือน ท่านก็ได้ย้ายไปประจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ธนบุรีซึ่งในขณะนั้นพระพิมลธรรมพร เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งย้ายมาจากวัดราชบูรณะ พระนคร หลวงปู่เอี่ยมท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม และแปลพระธรรมบทอยู่ที่วัดนี้อยู่ได้ถึง ๗ พรรษาท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดประยูรวงศาวาส

 เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ อยู่วัดประยูรวงศาวาสได้ ๓ พรรษา ถึงปี พ.ศ.๒๓๘๙๑ นายแขก สมุห์บัญชีได้นิมนต์หลวงปู่เอี่ยม ไปจำพรรษาเจริญพระกัมมัฏฐานเป็นเริ่มแรก และได้ศึกษาอยู่ ๕ พรรษา ถึงปี ๒๓๙๖ ญาติโยมพร้อมด้วยชาวบ้านภูมิลำเนาเดิมในคลองแหลมใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันนี้ คือคลองพระอุดม) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้เดินทางมา อาราธนานิมนต์หลวงปู่เอี่ยม กลับไปปกครองวัดสว่างอารมณ์ หรือวัดสะพานสูง ในปัจจุบันนี้

 สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์เดิมมาเป็นชื่อวัดสะพานสูงนั้น มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยนั้นสมเด็จกรมพระยาวชิญาณวโรรส ท่านได้เสร็จไปตรวจการคณะสงฆ์ได้เสด็จขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์นี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงข้ามคลองวัด (คลองพระอุดมปัจจุบันนี้)

 ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกวัดสว่างอารมณ์นี้ว่า วัดสะพานสูง จึงทำให้วัดนี้มีชื่อเรียกกัน ๒ ชื่อ ฉะนั้น สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นว่า สะพานสูงนี้ก็เป็นนิมิตดีประจำวัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งชาวบ้านก็นิยมเรียกกันติดปากว่าวัดสะพานสูง จึงได้ประทานเปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์ มาเป็น “วัดสะพานสูง” จนตราบเท่าทุกวันนี้

 หลวงปู่เอี่ยม มาวัดสะพานสูงใหม่ๆ ที่วัดนี้มีพระประจำวันพรรษาอยู่เพียง ๒ รูปเท่านั้นขณะที่ท่านหลวงปู่เอี่ยม ได้ย้ายมาอยู่วัดสะพานสูงได้ ๘ เดือน ก่อนวันเข้าพรรษา หลวงพิบูลย์สมบัติ บ้านท่านอยู่ปากคลองบางลำภู พระนคร ได้เดินทางมานมัสการหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่เอี่ยมได้ปรารภถึงความลำบาก ด้วยเรื่องการทำอุโบสถและสังฆกรรม

 เนื่องจากสถานที่เดิมได้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงอยากจะสร้างให้เป็นถาวรสถานแก่วัดให้เจริญรุ่งเรือง หลวงพิบูลยสมบัติ ท่านจึงได้บอกบุญเรี่ยไรหาเงินมา เพื่อก่อสร้างโบสถ์ และถาวรสถานขึ้น จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าหลวงปู่เอี่ยม ได้เริ่มสร้างพระปิดตาและตะกรุดเป็นครั้งแรก

 เพื่อเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรสถาน ต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้สร้างศาลาการเปรียญ หลังจากนั้นอีกหลวงปู่เอี่ยมได้สร้างพระเจดีย์ฐาน ๓ ชั้นขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ขณะที่ท่านหลวงปู่เอี่ยม ท่านได้มาอยู่วัดสะพานสูง ท่านได้ไปธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร

 โดยมีลูกวัดติดตามไปด้วยเสมอ แต่ท่านจะให้ลูกวัดออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ๖-๗ ชั่วโมง แล้วจะนัดกันไปพบที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วท่านหลวงปู่เอี่ยม ได้ไปพบชีปะขาวชาวเขมรท่าน หนึ่งชื่อว่าจันทร์หลวงปู่เอี่ยม จึงได้เรียนวิชาอิทธิเวทย์ จากท่านอาจารย์ผู้นี้อยู่หลายปี จนกระทั่งชาวบ้านแหลมใหญ่นึกว่าท่านออกธุดงค์ไปได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว เนื่องจากหลวงปู่เอี่ยม ท่านไม่ได้กลับมาที่วัดหลายปี

 จึงได้ทำสังฆทานแผ่ส่วนกุศลไปให้ท่าน ทำให้ท่านหลวงปู่เอี่ยม ทราบในญาณของท่านเอง และท่านหลวงปู่เอี่ยม จึงได้เดินทางกลับมายังวัดสะพานสูง การไปธุดงค์ครั้งนี้ หลวงปู่เอี่ยม ได้ไปเป็นเวลานาน และอยู่ในป่าจึงปรากฏว่าท่านหลวงปู่เอี่ยม ท่านไม่ได้ปลงผม ผมจึงยาวถึงบั้นเอว จีวรก็ขาดรุ่งริ่ง หมวดท่านยาวเฟิ้มพร้อมมีสัตว์ป่าติดตามท่านหลวงปู่เอี่ยม มาด้วย อาทิเช่น หมี, เสือ, และงูจงอาง ฯลฯ

 จากการเจริญกรรมฐานนี้ จึงทำให้หลวงปู่เอี่ยมสำเร็จ “โสฬส” มีเรื่องเล่ากันว่ามีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตกและดุมากเป็นที่เกรงกลัวแก่ชาวบ้านแถบนั้น หลวงปู่จึงช่วยยืนเพ่งอยู่ ๓ วันเท่านั้น ต้นตะเคียนก็เฉาและยืนต้นตาย หลวงปู่เป็นผู้มีอาคมฉมัง วาจาสิทธิ์ มักน้อยและสันโดษ ท่านเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้คือพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ จึงเป็นที่มาของการสร้างพระปิดตา และตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคลอันลือลั่นนั่นเอง

 ท่านหลวงปู่เอี่ยม เป็นพระผู้มีอาคมขลัง มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มักน้อย ถือสันโดษ ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลวงปู่เอี่ยม ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งชาวบ้านและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนครนับถือท่านมากจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่หลวงปู่เอี่ยมจะมรณภาพด้วยโรคชรา นายหรุ่น แจ้งมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคอยอยู่ปรนนิบัติท่านหลวงปู่เอี่ยมได้ขอร้องท่านว่า “ท่านอาจารย์มีอาการเต็มที่แล้ว ถ้าท่านมีอะไรก็กรุณาได้สั่ง และให้ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย” ซึ่งท่านหลวงปู่เอี่ยมก็ตอบว่า “ถ้ามีเหตุทุกข์เกิดขึ้นให้ระลึกถึงท่านและเอ่ยชื่อท่านก็แล้วกัน”

 หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม ท่านมรณภาพลงอย่างสงบ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ สิริรวมอายุ ๘๐ ปี พรรษา ๕๙

 ก่อนที่ท่านจะมรณภาพได้มีศิษย์ผู้ใกล้ชิดเป็นตัวแทนของชาวบ้าน และผู้เคารพนับถือศรัทธา ที่มีและไม่มีของมงคลท่านไว้บูชา กราบเรียนถามหากว่าเมื่อหลวงปู่เอี่ยม ได้มรณภาพแล้วจักทำประการใด ท่านจึงได้มีปัจฉิมวาจาว่า “มีเหตุสุข ทุกข์ เกิดนั้น ให้ระลึกถึงชื่อของเรา”

 จึงเป็นที่ทราบและรู้กันว่า หากผู้ใดต้องการมอบตัวเป็นศิษย์หรือต้องการให้ท่านช่วยแล้วด้วยความศรัทธายิ่ง ก็ให้เอ่ยระลึกถึงชื่อของท่าน ท่านจะมาโปรดและคุ้มครองและหากเป็นเรื่องหนักหนาก็บนตัวบวชให้ท่าน รูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่เอี่ยม ท่านประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ สร้าง(หล่อ) ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ในสมัยหลวงปู่กลิ่น ผู้ปกครองวัดต่อจากท่าน เพื่อการสักการะบูชา ต่อมาจนทุกๆวันจะมีผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศมากราบไหว้และบนบานฯ ตลอดเวลาตราบแสงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า ท่านชอบกระทงใส่ดอกไม้เจ็ดสี จะมีผู้นำมาถวายและแก้บนแทบทุกวันโดยเฉพาะในวันพระแม้แต่ผงขี้ธูปและน้ำในคลองหน้าวัดก็ยังมีความ ขลัง” อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

 ปัจจุบันรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงยังคงประดิษฐานหน้าอุโบสถ ซึ่งผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศแวะเวียนมากราบสักการะ ขอพร และบนบานอยู่มิได้ขาด

 วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะ ตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคล ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิแห่งตะกรุดของไทย แต่ที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กันคือพระปิดตา ได้รับการยกย่องเข้าทำเนียบหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตาเป็นที่สุดแห่งความนิยมที่นักสะสมพระเครื่องใฝ่หา

 กล่าวสำหรับพระปิดตานั้น มวลสารที่ใช้ เก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมากระหว่างเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นพวกว่านและรากไม้ที่ทรงคุณ นำมาบดผสมกับเนื้อผงพุทธคุณที่มาจากการลบพระคาถาพระยันต์อิติปิโส พระยันต์ไตรสรณคมน์ และ พระยันต์โสฬสมหามงคล สีสันวรรณะออกเป็นสีมะขามเปียก มีความหนึบนุ่ม มีคราบขาวกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อทำเป็นองค์พระ มักจะทาหรือชุบน้ำรักอีกชั้นหนึ่ง

 รูปแบบพิมพ์ทรง ลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยตัว องค์พระประทับนั่ง แสดงปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มีพบเป็นครึ่งซีกบ้างแต่น้อย ส่วนขนาดก็มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยส่วนมากจะออกใหญ่และล่ำสัน ซึ่งดูงดงามไปอีกแบบ

 แบ่งได้เป็น ๒ พิมพ์ คนรุ่นเก่านิยมเรียกว่าพิมพ์ว่าวจุฬาใหญ่ และพิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก แต่วงการพระเครื่องเรียกขานพิมพ์ชะลูดและพิมพ์ตะพาบ

 พิมพ์นิยม คือพิมพ์ชะลูด หรือพิมพ์ว่าวจุฬาใหญ่ เป็นพระปิดตารุ่นแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อนำปัจจัยสร้างอุโบสถ องค์พระมีลักษณะสูงเล็กและเพรียวอย่างงดงาม พระหัตถ์ที่ยกปิดพระเนตร ยกข้อพระกรขึ้นสูงกว่า, ข้อศอกจะเป็นลำเว้าเข้าหาบั้นพระองค์, พระอุทร (ท้อง) พลุ้ย, ปรากฏพระนาภี (สะดือ), พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายในลักษณะเฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ด้านหลังเป็นหลังเรียบและโค้งมน

 ส่วนพิมพ์ตะพาบ หรือพิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก องค์พระจะล่ำสันเทอะทะ ดูใหญ่คล้ายตะพาบน้ำ ข้อศอกชิดกับพระเพลา ซึ่งจะกว้างกว่าพิมพ์ชะลูด

ขอขอบคุณ 108prageji.com

ข่าวโดย ไผ่บ่อไร่

 

Visitors: 344,086