รพ.สต.ธารน้ำทิพย์

ทต.ธารน้ำทิพย์รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เโรคไข้เลือดออกหลังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกใน จ.ยะลา แล้ว 324 ราย

ยะลา-กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ ร่วมกับ รพ.สต.ธารน้ำทิพย์ และอสม.เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก แจกแผ่นพับ และแจกทรายอะเบท  กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อให้ชุมชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก หลังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกใน จ.ยะลา แล้ว 324 ราย

วันที่ (11 ก.ค.66)  นายสมัคร นอระพา นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้มอบหมายให้นางสาวคอตีเย๊าะ ดาเด๊ะ รองนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์  และเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ ร่วมกับ รพ.สต.ธารน้ำทิพย์ และอสม.ตำบลธารน้ำทิพย์ ลงพื้นที่ ชุมชนกวางหลง หมู่ที่ 1 ต.ธารน้ำทิพย์  ออกเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย สำรวจและกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ได้แจกแผ่นพับ และแจกทรายอะเบท เพื่อให้ชุมชนปลอดลูกน้ำยุงลาย ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะมีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สำหรับลูกน้ำ ยุงลาย พ่นหมอกควัน ละอองฝอย ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ไข้เลือดออก

จากภาพรวมสถานการณ์ "ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก" ใน จ.ยะลา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 6 มิ.ย. 66) ซึ่งพบแล้ว 324 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 71.83 ต่อ ประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 15 - 24 ปี รองลงมาอายุ 10 - 14 ปี และผู้ป่วยส่วนมาก เป็นนักเรียน

ส่วนประเทศไทย ตั้งแต่ในวันที่ 1 ม.ค.- 28 มิ.ย.2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 คน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500-2,400 คน เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพฯและภาคกลาง ตามลำดับ

นายศุภกฤตย์ ภคพงศ์พันธุ์ นักวิชาการสาธารณสุขสํานักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง  กล่าวว่า ขอให้สังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นอกจากนี้ควรป้องกันจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง, เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะบริเวณรอบบ้าน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ สํานักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งผู้นำชุมชน อบต. ท้องถิ่น ร่วมรณรงค์ปรับปรุงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพ่นหมอกควันในสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน และให้หน่วยงานราชการ และสถานประกอบการ จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ทุกสัปดาห์ พื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ต และโรงงานอุตสาหกรรม 

ย้ำ"รู้ทัน ป้องกัน "ไข้เลือดออก" นักฆ่าหน้าฝนเพราะโรคนี้ไม่มีวัคซีน เราจึงต้องป้องกันตนเองจากยุงลาย กันไว้ ดีกว่าแก้"

ข่าว..เจษฎา สิริโยทัย จ.ยะลา

โทร.064-1265593

Visitors: 344,093