สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเบตง

ปินตูกือบัง รายาเบอร์ซียง สถาปัตยกรรมมลายูท้องถิ่นเบตง

ยะลา - ปินตูกือบัง รายาเบอร์ซียง สถาปัตยกรรมมลายูท้องถิ่นเบตงที่อ้างอิงจากเรื่องจริง...จากอดีตสู่ปัจจุบัน

https://shorturl.asia/c5TON

 

 

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 11 เม.ย.67บรรยากาศที่ซุ้มประตูชัยราชาซียง หรือ  ปินตูกือบัง รายาเบอร์ซียง (ราชาเขี้ยวงอก)  ที่บ้านบันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย ต่างเดินทางมาถ่ายรูป เช็คอิน ชมความสวยงามของปินตูกือบัง รายาเบอร์ซียงแห่งนี้  ตื่นตาตื่นใจที่ได้มาสัมผัสสถาปัตยกรรมในรูปแบบมลายูท้องถิ่นในช่วงของการเฉลิมฉลองวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี 2024 

นายนัจมุดดีน บาสานุง ประธานกลุ่มเปอร์มูดอบ้านบันนังสิแน เล่าว่า จากกระแสตอบรับของซุ้มประตูชัยในปีที่ผ่านมา ที่ได้สร้างแบบอาหรับผสมกับสถาปัตยกรรมของประเทศอินโดนีเซีย มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับรางวัลจากการประกวดซุ้มประตูชัยในจังหวัดหวัดชายแดนภาคใต้ และในปีนี้ ทางกลุ่มได้มีการเตรียมการที่พร้อมกว่าเดิม โดยได้ศึกษาเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยสถาปัตยกรรมในยุคของรายาเบอร์ซียง หรือ ราชาเขี้ยวงอก ที่เคยสร้างพระราชวัง อยู่ที่ชุมชนบ้านกาแป๊ะกอตอ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ผู้ปกครองดินแดนแห่งนี้ในสมัยโบราณ  และเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวมาเลในรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของรายาเบอร์ซียง  เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในการเตรียมสร้างปินตูกือบัง รายาเบอร์ซียงในปีนี้  อีกทั้งชาวบ้าน บ้านบันนังสิแน มีต้นตระกูล" ซียง" ใช้นามสกุล ซียง เป็นลูกหลานเชื้อสายของรายาเบอร์ซียง เลยเป็นแนวคิดที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่อ้างอิงจากเรื่องจริง จากอดีตสู่ ที่บ้านบันนังสิแนแห่งนี้

ซึ่งทางกลุ่มได้ดำเนินการก่อนเดือนรอมฎอนในการร่างแบบ และเริ่มดำเนินการสร้างในเดือนรอมฎอนให้แล้วเสร็จในช่วงวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี 2024 โดยได้ใช้เวลาหลังละหมาดตะรอเวียะห์ ของเดือนรอมฎอนลงมือลงแรงกันสร้าง ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่และไม้ตาลที่มีความแข็งแรงทนทาน หาได้ง่ายในพื้นที่เบตงบ้านเรา มีชาวบ้านและผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซื้ออาหารและขนมไว้ให้ละศีลอด เพราะเห็นความตั้งใจ ความสมัครสมานสามัคคีของทุกคน ที่อดหลับอดนอนเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้แก่หมู่บ้านของเรา 

รวมถึงพี่น้องมุสลิมต่างถิ่นที่ได้ร่วมกันโอนเงินสนับสนุนผ่านบัญชีของกลุ่ม เพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์สำหรับก่อสร้าง และแบ่งหน้าที่กันทำ โดยโครงสร้างของซุ้มประตูทางเข้า-ออก พร้อมกำแพง ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านมลายูโบราณชุมชนบ้านกาแป๊ะกอตอ ที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมมลายูมาเลเซีย มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความสูง 10 เมตร ยาว 30 เมตร ส่วนสะพานข้ามคลองเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างปืนใหญ่คู่ตั้งใว้หน้าประตูซุ้มทางเข้า-ออก ตกแต่งด้วยโคมไฟสีวอร์มไวท์ช่วยสร้างบรรยากาศย้อนยุคได้เป็นอย่างดี โดยปินตูกือบัง รายาเบอร์ซียง แห่งจะตั้งตระหง่านที่แห่งนี้อีก 3 เดือน ไปจนถึงรายออิดิลอัฎฮา 2567ก็จะทำการรื้อถอน เหลือใว้เพียงภาพแห่งทรงจำต่อไป

หลังจากนี้ก็จะส่งภาพถ่าย พร้อมหลักฐาน เข้าร่วมประกวดซุ้มประตูชัย หรือ  ปินตูกือบัง จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรายการของสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และรายการของทาง อบต.ยะรม จัดขึ้น 

ด้าน ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายก อบต.ยะรม กล่าวว่า  อบต.ยะรม  ได้เห็นถึงความตั้งใจ ความสามัคคี ของกลุ่มเปอร์มูดอ ใน ต.ยะรม  ที่ยอมเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสรรค์ ประตูชัยวัฒนธรรมมลายู ถือเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง จึงได้จัดแผนโครงการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม จัดการประกวดซุ้มประตูชัย (Pintu Gerbang) โครงการเทศกาลวันฮารีรายอ ประจำปี พ.ศ.2567 ของ อบต.ยะรมขึ้น ซึ่ง ใน ต.ยะรม มีการทำ “ปินตู กือบัง” 4 แห่งด้วยกัน โดยรางวัลชนะเลิศ จะได้เงินรางวัล 10,000 บาท   รองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้เงินรางวัล 7,000 บาท    รองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้เงินรางวัล 4,000 บาท และรางวัลชมเชย จะได้เงินรางวัล 2,000 บาท

สัมภาษณ์ นายนัจมุดดีน บาสานุง ประธานกลุ่มเปอร์มูดอบ้านบันนังสิแน

สัมภาษณ์ ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายก อบต.ยะรม

ข่าว..เจษฎา สิริโยทัย จ.ยะลา  โทร.064-126-5593


Visitors: 344,221