แรงงาน ร่วม 6 หน่วยงาน พัฒนาแรงงานท่องเที่ยวและบริการ ตั้งเป้า 4900 คน

แรงงาน ร่วม 6 หน่วยงาน พัฒนาแรงงานท่องเที่ยวและบริการ ตั้งเป้า 4900 คน

29 พฤษภาคม 2566 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ กรมการท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผสมเครื่องดื่มและบริการ สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย และชมรมบาร์เทนเดอร์ภาคตะวันออกประเทศไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพให้แก่กำลังแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ณ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคาร รัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ถนนแจ้งวัฒนะ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 กรมการท่องเที่ยว 

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมความพร้อมความต้องการแรงงานภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ซึ่งมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและมาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น สามารถนำเงินตรา ต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยปีละมหาศาล สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ ได้นับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี จะทำให้เกิดรายได้และมีผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการให้มีสมรรถนะและศักยภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว ในวันนี้จึงมอบหมายให้รองอธิบดี นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพให้แก่กำลังแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ 5 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาแรงงาน และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการร่วมกัน 

นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมภายหลังร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตรบาร์เทนเดอร์ ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ระยอง เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และสระบุรี  มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 161 คน โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยงาน จะร่วมกันกำหนดแผนจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย บาริสต้ามืออาชีพ บาร์เทนเดอร์ พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม เทคนิคการนวด และภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน เพื่อให้แรงงานมีทักษะฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งร่วมกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการจัดส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น อาชีพนักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม พนักงานนวดไทย โดยได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อให้เป็นบุคลากรมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมตามโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป้าหมายดำเนินการ 4,900 คน โดยดำเนินการแล้ว 3,344 คน (ข้อมูล ณ 29 พฤษภาคม 2566)

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ 1 ใน 4 ของรายได้ของประเทศ และนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละ 6 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังขาดทักษะฝีมือ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมเป็นภาคี เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานร่วมกันต่อไป แรงงานที่สนใจและต้องการเพิ่มศักยภาพของตนเอง สามารถสอบถามได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือโทรสอบถามข้อมูลสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” นายพิเชษฐ์ กล่าวในท้ายสุด

Visitors: 343,864