กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

กองทุนกำลังใจในพระเจ้าหลานเธอฯ ผนึกกรมพัฒน์-กรมราชทัณฑ์ พัฒนาอาชีพผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ ส่งเสริมการมีงาน

วันที่ 8 มีนาคม 2567 กองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยโครงการกำลังใจแก่ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ มีพลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 รองประธานกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ลงนาม โดยมีนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธนัตถ์ ศรมณี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

 

 พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 รองประธานกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กล่าวว่า กองทุนกำลังใจจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการโอกาสในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติ หรือผู้ที่เป็นจำเลย เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มผู้ที่ก้าวพลาดทำให้ชีวิตต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และผู้ขาดโอกาสกลุ่มอื่น ๆ ให้สามารถมีโอกาสกลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข รวมทั้งเพื่อให้ผู้มีจิตกุศล และมีจิตศรัทธาได้รับทราบและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมให้การช่วยเหลือ สนับสนุนแก่กลุ่มผู้ต้องการกำลังใจและผู้ขาดโอกาสเหล่านี้ และเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และให้โอกาสแก่ผู้ที่แม้ชีวิตจะเคยก้าวพลาดแต่ก็พร้อมที่จะเริ่มชีวิตใหม่ เป็นคนดีของสังคม เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว กองทุนกำลังใจจึงร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมราชทัณฑ์ ดำเนินพัฒนาทักษะชีวิตและเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษให้ได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะฝีมือในวิชาชีพ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ และมีรายได้ภายหลังพ้นโทษแล้ว

 

 ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน       ได้ร่วมกับกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และกรมราชทัณฑ์ จัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยในปี 2567 มีแผนดำเนินการทั้งหมด จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 28 จังหวัด เป้าหมาย 980 คน ( 47 รุ่น) ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้วจำนวน 23 แห่ง จำนวน 680 คน (30 รุ่น) แยกเป็นชาย    373 คน และหญิง 307 คน หลักสูตรที่ดำเนินการฝึก อาทิ บาริสต้า  การทำเบเกอรี่ การนวดเพื่อสุขภาพ การตัดเย็บเสื้อผ้าเบื้องต้น การปูกระเบื้อง ช่างซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างติดตั้งและบำรุงรักษาโซล่าเซลล์ การบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้าน ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ  

 

“การบูรณาการความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน จะเป็นแรงผลักดันและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขังได้มีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากพ้นโทษแล้ว อีกทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยก้าวพลาดได้มีอาชีพใหม่ที่มั่นคง และส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมที่พร้อมเป็นกำลังใจ” อธิบดีบุปผากล่าวในท้ายสุด

 


Visitors: 344,093