หลวงพ่อเกษม จ.ลำปาง

 ถ้าจะกล่าวถึงพระเจิผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมทางภาคเหนือ คงอดนึกถึงพระเกจิท่านนี้มิได้ ท่านนั้นคือ หลวงพ่อเกษม เขมโก  สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง ท่านมีเชื้อสายราชวงศ์ แต่ได้สละเข้าสู่ทางปฏิบัติ ยึดมั่นในการดำรงวิถีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ยึดติด จนปัจจุบันนี้แม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นที่เคารพศรัทธาแก้ศิษยานุศิษย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ

 หลวงพ่อเกษม เขมโก เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ. 131 เป็นบุตรใน เจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) รับราชการเป็นปลัดอำเภอ กับ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

  สมัยตอนเด็กๆมีคนเล่าว่าท่านซนมากมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านปีนต้นบ่ามั่น(ต้นฝรั่ง)เกิดพลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ เมื่อท่านอายุได้ 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งเป็นการบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว 7 วันได้ลาสิกขาและท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปีและจำวัดอยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง ท่านได้ศึกษาด้านพระปรัยัติธรรมจนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ. 2474 และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีถัดมา โดยมีพระธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายาว่า "เขมโก" แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม โดยพระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุเกษม เขมโกก็ได้ศึกษาทางด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาปริยัติอีกแขนงหนึ่ง ที่สำนักวัดศรีล้อม สมัยนั้นก็มีอาจารย์หลายรูป เช่น มหาตาคำ พระมหามงคลเป็นครูผู้สอน และยังได้ไปศึกษาที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งมีพระมหามั่ว พรหมวงศ์ และพระมหาโกวิทย์ โกวิทญาโน เป็นครูสอน ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย

  พ.ศ. 2479 ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ท่านเรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้ รวมทั้งสามารถแปลเป็นภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี แต่ท่านไม่ยอมสอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างเข้าใจว่าพระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก ไม่ต้องการมีสมณะศักดิ์สูง ๆ เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น

  เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติธรรมแล้ว ท่านแสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่ง ท่านทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือ ครูบาแก่น สุมโน ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์ 

  ครูบาแก่น สุมโน เป็นพระภิกษุสายวิปัสสนา ถือธุดงค์เป็นวัตร หรือที่เรียกกันว่า พระป่า หรือภาษาทางการเรียกว่า พระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ตอนนั้นครูบาแก่นท่านได้ธุดงค์แสวงหาความวิเวกทั่วไป ยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาแล้ว ท่านยังเก่งรอบรู้ในด้านพระธรรมวินัยอย่างแตกฉานอีกด้วย 

  พระเกษม ท่านได้ตามครูบาแก่น สุมโน ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก จนถึงช่วงเข้าพรรษาซึ่งพระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราวท่านจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออก ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

  ต่อมา เจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัดเพราะท่านเคยจำวัดนี้ ท่านเห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนาเพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน หลังจากนั้นท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้งเนื่องจากท่านอยากจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ท่านจึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทานพร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

  หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ตลอดชนชีพ ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง ท่านเป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำปางและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงมีความเคารพศรัทธาในความที่ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการท่านหลายครั้ง และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2536 

  หลวงพ่อเกษม เขมโก มรณภาพ ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2539 เวลา 19:40 น. ซึ่งตรงกับวันจันทร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 2 ปีกุน ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่สานุศิษย์ทั่วประเทศ ส่วนสรีระของท่านนั้นก็ยังความอัศจรรย์ด้วยเนื่องจากไม่เน่า

เปื่อยเหมือนอย่างสังขารทั่วไป ทั้งยังเขียนป้ายบอกผู้ที่มาเคารพสรีระ ท่านด้วยว่าให้พนมมือไหว้ที่หน้าอกเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์อย่างศพของพระเถระทั่วไปนับว่าท่าน นั้นถือสมถะเป็นอย่างมาก

 

ข่าวโดยไผ่ บ่อไร่

Visitors: 344,098