หลวงพ่อพุฒ

 หลวงพ่อพุฒ  สุนทโร วัดกลางบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

พระเกจิอาจารย์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์  ท่านเป็นพระคณาจารย์ที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างดีสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอนครชัยศรี รวมทั้งสาธุชนที่เลื่อมใสท่านทั่วประเทศจากเหตุที่มาของความศรัทธาที่บางท่านอาจจะยังไม่เคยล่วงรู้มาก่อน ด้วยปฏิปทาและศิลจริยวัตรอันเคร่งครัด ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาตลอดชีวิตพรหมจรรย์ของท่าน ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าท่านสมเป็นพระคณาจารย์อย่างแท้จริง

หลวงพ่อพุฒ สุนทโร แห่งวัดกลางบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ดินแดนศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาที่มีบรรดาเกจิอาจารย์มากมายหลายท่าน หลวงพ่อพุฒ แต่เดิมนั้นท่านเป็นชาวตำบลบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 ท่านเป็นบุตรของนายขำ หาญสมัย และ นางปาน หาญสมัย ครอบครัวของท่านแต่เดิมนั้นเป็นชาวนา ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตของหลวงพ่อพุฒในวัยเยาว์นั้นเต็มไปด้วยการต่อสู้ทำมาหากิน จนกลายเป็นนิสัยที่กระตือลือล้น ขยันหมั่นเพียรเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งยังคงเป็นคนที่รู้จักเก็บออมด้วยความที่รู้จักค่าของเงินซึ่งหามายากยิ่ง หลวงพ่อพุฒในสมัยที่ยังเป็นฆราวาสอยู่นั้นท่านได้ช่วยบิดามารดาทำงานมาโดยตลอดแต่เมื่อยามว่างงาน นิสัยที่แท้จริงซึ่งติดตัวท่านมาตลอดคือ ท่านชอบการอ่านหนังสือและการศึกษามาก   ดังนั้นเมื่อท่านมีโอกาสท่านก็จะหันเข้าสู่การศึกษาจากตำราต่างๆ ซึ่งค่อนข้างจะแปลกกว่าเด็กๆในรุ่นเดียวกัน ด้วยเพราะท่านไม่นิยมที่จะเที่ยวเล่น ส่วนตำหรับตำราที่ท่านสนใจนั้นก็จะเป็นตำราที่ท่านได้มาจากวัด เพราะสมัยก่อนนี้ไม่ได้มีหนังสือขายกันมากมายเช่นในปัจจุบัน แต่ท่านก็ยังเพียรพยายามหาหนังสือมาอ่าน ก็จะเป็นหนังสือประเภทธรรมะและยังมีตำราแพทย์แผนโบราณ ซึ่งท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากความห่างไกลจากหมอและยา ท่านจึงมีความคิดถึงการรักษาผู้ป่วยด้วยสมุนไพรที่ท่านศึกษา รวมไปถึงวิชาต่างๆที่ท่านได้ศึกษาจากพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้น เช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ต.มาบแค อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ท่านอยู่มากนัก หรือแม้แต่หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ส่วนการอ่านเขียนที่ท่านได้เรียนติดตัวมานั้นท่านได้ศึกษาจากวัด แต่ต่อมาท่านก็ได้เข้าสอบนักศึกษาผู้ใหญ่จนสำเร็จชั้นประถมศึกษา 4

ท่านทุ่มเทชีวิตที่เหลือจากการทำงานให้แก่การศึกษาจากพระอาจารย์มากมายหลายรูป จนเมื่อท่านอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ โดยท่านมีความหวังที่จะศึกษาต่อในเพศพรหมจรรย์ แต่ชีวิตท่านก็ต้องผกผันไปเมื่อท่านต้องเข้ารับคัดเลือกจากทางราชการทหาร ให้เข้ารับราชการหรือที่เรารู้จักกันว่า "การเกณฑ์ทหาร"ในที่สุด หลวงพ่อพุฒในวัย 20 ปี ท่านก็ต้องรับราชการทหาร โดยท่านเป็นทหารรักษาพระองค์อยู่ถึง 2 ปี จึงปลดประจำการ กลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง การกลับมาครั้งนี้ก็มิได้เปลี่ยนการทำมาหากินของท่านและครอบครัว ท่านยังต้องกลับมาเพื่อช่วยเหลือบิดามารดาในการทำไร่ทำนาเช่นเดิม แต่ท่านก็ไม่เคยเบื่อหน่ายแต่กลับขยันขันแข็ง รู้จักกัญญูกตเวทีต่อบุพการี แต่ไม่นานนักชีวิตของท่านก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผู้คนทั้งหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงนิยมชมชอบและส่งเสริมในการทำงานจริงจังของท่าน ชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่ในกรอบของศิลธรรมของท่าน ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างเสนอทางราชการแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ด้วยความไว้วางใจ ส่วนทางราชการนั้นก็ได้พิจารณาเห็นถึงความประพฤติดีของท่านเช่นเดียวกับชาวบ้านจึงแต่งตั้งให้ท่านได้เป็น "ผู้ใหญ่บ้าน" หมู่ที่ 4 ตำบลวัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนั้น ท่านก็เพียรพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่ท่านจะสามารถกระทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่เคยลืมก็คือเรื่องของความมีศิลธรรมในการอยู่ร่วมกัน ท่านมักจะใช้ธรรมะในการขัดเกลาจิตใจของผู้กระทำผิดและชาวบ้านที่อยู่ร่วมกัน จนเกิดความสงบสุขในเขตการดูแลของท่านสมกับที่ชาวบ้านไว้วางใจในการเคารพเชื่อฟัง

แต่เปรียบดั่งพรหมลิขิต แม้ว่าการทำงานของท่านจะตั้งใจจริงและได้รับความร่วมมือจากบรรดาชาวบ้านภายใต้การปกครองของท่าน จนบังเกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งถ้าหากเป็นผู้อื่นนั้น อาจจะมักใหญ่ใฝ่สูงต้องการเลื่ีอนตำแหน่งทางราชการ แต่หลวงพ่อพุฒ หรือว่าสมัยนั้นท่านยังเป็นผู้ใหญ่พุฒอยู่ ท่านกลับไม่คิดถึงลาภยศสรรเสริญ ท่านกลับมองในทางตรงข้าม ด้วยรู้สึกเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาสทางโลก ด้วยการศึกษาที่ท่านเคยได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน วิชาต่างๆจากบรรดาพระคณาจารย์ในละแวกนั้น ซึ่งยังคงตราตรึงฝังใจในการที่จะเข้ารับใช้พระพุทธศาสนา ภายใต้ร่มกาสาวพัตรแห่งเพศพรหมจรรย์ แต่นั่นก็เป็นเพียงความรู้สึกที่อยู่ในใจ ท่านพยายามกระทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านด้วยความเที่ยงตรงและตั้งใจจนวันเวลาผ่านไป 5 ปี ความรู้สึกยังอยู่ที่หวังว่าจะบวชก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ท่านจึงกราบขออนุญาติบิดามารดา ละชีวิตทางโลกเข้าสู่เพศพรหมจรรย์ด้วยหวังว่าจะตอบแทนพระคุณบิดามารดาด้วยศรัทธาในอานิสงฆ์ ความหวังของท่านก็มีแต่ผู้ร่วมอนุโมทนา   ดังนั้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2489 ท่านก็ตัดชีวิตทางโลกเข้าสู่ร่มกาสาวพัตรเป็นพระสงฆ์ ณ พัทธสีมา วัดกลางบางพระ ต.บางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และนั้นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตท่านอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อหลวงพ่อพุฒท่านบวชใหม่ๆนั้น ท่านมุ่งมั่นในเรื่องการศึกษาพระธรรม โดยท่านเรียนพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังด้วยความหวังที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา ในปี พ.ศ.2489 หรือในปีแรกที่ท่านบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ ท่านก็สามารถสอบได้นักธรรมตรี หลังจากนั้นอีก 2 ปีคือในปี พ.ศ.2491 ท่านก็สามารถสอบได้นักธรรมโทและนักธรรมเอก จะเห็นได้ว่าท่านเป็นพระที่ใฝ่การศึกษาอย่างแท้จริงด้วยสติปัญญาที่ท่านมีมา การท่องจำการสวดมนต์ของท่านเรียกได้ว่าไม่น้อยหน้าใคร ไม่ว่าจะเป็นบทสวด 7 ตำนาน 12 ตำนาน ท่านสามารถท่องและแปลได้อย่างแตกฉาน แต่การศึกษามิใช่ทางเดียวที่ท่านคิดว่าจะเข้าให้ถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา หลวงพ่อพุฒท่านยังเห็นความสำคัญของการปฏิบัติ เมื่อท่านศึกษาจนเป็นที่เข้าใจทะลุปรุโปร่งในด้านตำรา ท่านก็เพียรพยายามหาวิธีการปฏิบัติเพื่อความเข้าใจ ท่านจึงเริ่มออกธุดงค์จริยวัตรไปยังสถานที่ต่างๆที่ก่อให้เกิดความสงบวิเวก เพื่อการบริกรรมภาวนา ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อสมาธิอันเป็นที่มาในการพิจารณากรรมดีกรรมชั่ว

หลังจากที่หลวงพ่อพุฒออกธุดงค์เพียง 6 พรรษา ในปีพ.ศ.2495 พระอธิการวัย เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ของวัดกลางบางพระ ก็ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์และชาวบ้านกรรมการวัดก็ได้ยกย่องนิมนต์หลวงพ่อพุฒขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ด้วยความที่ท่านเหมาะสมทั้งทางด้านการศึกษาและปฏิปทาที่เคร่งครัด

หลวงพ่อพุฒ สนทโร ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดกลางบางพระในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2495 โดยได้นามว่า "พระอธิการพุฒ สุนทโร" ในพรรษาที่ 6 จากนั้นมาหลวงพ่อพุฒหรือพระอธิการพุฒ ท่านได้ทำนุบำรุงวัดกลางบางพระ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีหลักฐานจากกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการว่า สร้างเมื่อราวๆ พ.ศ.2362 หรือประมาณ 200ปีและเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ดังนั้นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ปรากฏอยู่ในวัดจึงมีค่าในด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งหลวงพ่อพุฒท่านก็ไม่เคยที่จะละความสนใจท่านได้ให้การเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึงในการบูรณะปฏิสังขรณ์ รวมทั้งการสร้างถาวรวัตถุที่จำเป็นในความเหมาะสม จนวัดกลางบางพระเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง

แต่หลวงพ่อพุฒ ท่านก็ยังเห็นความสำคัญในการดูแลปกครองพระเณรในวัดให้อยู่ในกฏวินัยของสงฆ์ ทั้งยังให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่บรรดาสาธุชนที่ต่างหลั่งไหลกันเข้ามาขอพรและแก้ไขความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชีวิต หลวงพ่อพุฒท่านก็พยายามใช้วิชาต่างๆ  ที่ได้ร่ำเรียนมาจากพระคณาจารย์ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชามาให้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ขณะเดียวกัน ท่านก็ยังคงปฏิบัติธรรม สมาธิภาวนาเป็นเนืองนิจกิจวัตรมิเคยขาดด้วยทุกสิ่งที่ท่านทำก็เพื่อจะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสู่ศิษยานุศิษย์และสาธุชนให้เกิดความสงบสุขในการดำรงชีวิต จากความดีที่ท่านได้ปฏิบัติมาตลอดชีวิต ในปี พ.ศ.2537 หลวงพ่อพุฒหรือพระอธิการพุฒ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพุฒาจารย์ และท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่บรรดาพระสงฆ์บวชใหม่อีกด้วย

ด้วยความดีทั้งหลายที่ท่านเพียรพยายามสร้างขึ้นมานี้ แม้ท่านจะได้ลาภยศสรรเสริญมากมายแต่นั่นมิใช่จุดที่ท่านพึ่งปรารถนา ท่านปรารถนาที่จะเห็นพระพุทธศาสนานั้นเจริญรุ่งเรืองในจิตใจมนุษย์ทุกหมู่เหล่าเพื่อความสงบร่มเย็นจะบังเกิดแก่มนุษย์โลก สมเป็นพระคณาจารย์ผู้มากด้วยวิชาความรู้สติปัญญาและยังน่าเคารพสักการะด้วยวัตรปฏิบัติภายใต้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพรียบพร้อมและคู่ควรที่เราจะร่วมอนุโมทนา หลวงพ่อพุฒ สุนทโร แห่งวัดกลางบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

 จากคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างสมปฏิบัติมา จึงได้รับพระราชทานสมศักดิ์ตามลำดับ คือ 

          1. ได้รับพระราชทานเป็นพระครูชั้นประทวน ในนามพระครูพุฒ สุน?ทโร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2509 อายุ 54 ปี พรรษา 20 

          2. ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในนามพระครูสุนทรวุฒิคุณ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 อายุ 58 ปี พรรษา 24 

          3. ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2518 อายุ 63 ปี พรรษา 29 

          4. ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 อายุ 80 ปี พรรษา 45

          5. ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์จากสมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 อายุ 82 ปี พรรษา 47 ข่า  

 วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2542 หลวงพ่อมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย จึงไปนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลห้วยพลู ต่อมาในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2542 อาการของหลวงพ่อยัง ไม่ดีขึ้นระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย เริ่มไม่มีประสิทธิภาพ รุ่งเช้าวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2542 เวลาประมาณ 08.45 น. หลวงพ่อได้จากพวกเราไปด้วยอาการอันสงบ คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของหลวงพ่อกลับมายังวัดกลางบางพระและได้รับพระราชทานน้ำสรงศพ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2542 เวลา 17.00 น. อย่างสมเกียรติท่ามกลางความอาลัยของคณะศิษยานุศิษย์ สิริรวมอายุของหลวงพ่อได้ 88 ปี 2 เดือน 8 วัน    

 ข่าวโดย ไผ่ บ่อไร่ ขอขอบคุณ เปิดบันทึกตำนาน และ sitamulet

 

 

Visitors: 344,096